การพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ชุมชนท้องถิ่น

การพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ชุมชนท้องถิ่น

เพื่อพัฒนาหมู่บ้านเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ ได้แก่ นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และนำความรู้ วิทยาการ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ไปใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมภายใต้วัฒนธรรมความเป็นไทย และสามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ยกระดับรายได้ครัวเรือนของประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายการพัฒนาของมหาวิทยาลัยฯ โดยยกระดับรายได้ หรือลดค่าใช้จ่าย โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาในมิติต่าง ๆ เช่น พัฒนาอาชีพ
ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายในครัวเรือน หรือลดต้นทุนการผลิตได้อย่างยั่งยืน

1. ขั้นตอน กระบวนการ และกิจกรรมที่เสริมหนุนต่อยอดในชุมชนท้องถิ่น

1.1 ประชุมวางแผนการดำเนินงานโครงการ เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ ให้กับคณะทำงานและผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้รับทราบแผนการดำเนินงานและแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกัน รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการและการดำเนินงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.2 การลงพื้นที่สำรวจครัวเรือนเชิงประจักษ์ในหมู่บ้านเป้าหมาย โดยลงพื้นที่เพื่อพบปะกับผู้ใหญ่บ้านและแกนนำหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้นำหมู่บ้านได้ชี้เป้าหมายครัวเรือนที่ควรได้รับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต และสอบทานข้อมูลรายครัวเรือน โดยการเยี่ยมบ้านและสัมภาษณ์

1.3 วิเคราะห์ปัญหาของครัวเรือนเป้าหมาย พบว่า เป็นผู้มีรายได้น้อยประกอบอาชีพอาชีพรับจ้างทั่วไป (ตามฤดูกาล) และได้รับผลกระทบจาก COVID-19

1.4 การพัฒนาโครงการ คณะทำงานได้ออกแบบกิจกรรมและดำเนินการพัฒนาโครงการ ดังนี้

1.4.1 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชนฐานรากด้วยกิจกรรมการพัฒนาส่งเสริมการทำการเกษตรปลอดภัย งานสัมมาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยในระดับครัวเรือน รับผิดชอบโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1.4.2 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รับผิดชอบโดยคณะพยาบาลศาสตร์
1.4.3 โครงการการจัดอีเว้นโดยชุมชนเพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ รับผิดชอบโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

1.5 การดำเนินโครงการ ในระหว่างเดือนธันวาคม 2563 – สิงหาคม 2564 ในการขับเคลื่อนกิจกรรมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ของครัวเรือนเป้าหมาย

1.6 การติดตามการดำเนินงาน โดยการลงพื้นที่ติดตามรายครัวเรือน และให้ข้อเสนอแนะต่างๆ 

1.7 การประเมินผลครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการโดยการเก็บข้อมูลรายได้ รายจ่ายก่อนเข้าร่วมโครงการและหลังเข้าร่วมโครงการ

2. กิจกรรมที่หนุนเสริมในชุมชนท้องถิ่น ดังนี้

สถาบันวิจัยและพัฒนา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้ให้กับคนในชุมชนฐานราก โดยสมาชิกครัวเรือนร่วมดำเนินการ และบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนส่งเสริมการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ด้วยการให้นักศึกษาร่วมเรียนรู้และปฏิบัติงาน โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการ ประกอบด้วย

2.1 กิจกรรมลดรายจ่าย ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาให้ครัวเรือนมีแหล่งอาหารปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน ลดรายจ่ายค่าอาหารในชีวิตประจำวัน ด้วยการทำ “ซุ้มเห็ดแก้จน” ด้วยแนวคิด “มีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือจึงจำหน่ายเป็นรายได้เสริม” ในพื้นที่บริเวณบ้านที่มีจำกัด และสมาชิกในครัวเรือนสามารถทำได้ง่าย

2.2 กิจกรรมเพิ่มรายได้ ได้แก่ การเพาะถั่วงอกยกระดับรายได้ให้กับครัวเรือน การผลิตผักปลอดภัย การเลี้ยงไก่ไข่พัฒนาแหล่งอาหารโปรตีนในครัวเรือน

2.3 กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การให้ความรู้และทักษะการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้

3. ผลการดำเนินการข้อมูลเชิงประจักษ์ในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนการดำเนินการพัฒนา

จากการดำเนินงานกิจกรรมยกระดับรายได้ครัวเรือนของประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายการพัฒนาของมหาวิทยาลัยฯ โดยกิจกรรมมีการหนุนเสริมทำให้ครัวเรือนมีแหล่งผลิตพืชผักและอาหารปลอดภัยในครัวเรือน นำไปสู่การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 132 ครัวเรือน จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีครัวเรือนจำนวน 118 ครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 หรือสามารถลดรายจ่ายได้อย่างน้อยร้อยละ 10 โดยครัวเรือนดังกล่าวสามารถพึ่งพาตนเองได้และสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน สำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

4. จำนวนครัวเรือนที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ 118 ครัวเรือน